การทำรากฟันเทียม (Dental Implants)
การทำรากฟันเทียมถือได้ว่าเป็นการใส่ฟันเพื่อทดแทนการสูญเสียฟันที่ใกล้เคียงฟันธรรมชาติมากที่สุด อีกทั้งช่วยชะลอหรือลดการเสื่อมสลายของกระดูกรองรับรากฟันได้
ปัจจุบันเทคโนโลยีทางทันตกรรมมีความก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้ลดความยุ่งยาก ขั้นตอนและระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาลงอย่างมาก
ปัจจุบันการใส่รากฟันเทียมในกรณีที่ฟันหายไป ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในกรณีที่มีฟันหายไป 1-2 ซี่ รวมถึงรากฟันเทียมก็มีส่วนช่วยให้ฟันเทียมชนิดถอดได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เรียกได้ว่ารากฟันเทียมมีส่วนช่วยในการทำฟันเทียมเกือบทุกกรณี
ส่วนประกอบของรากฟันเทียม
Implant Body or Fixture (ตัวรากฟัน หรือ ส่วนรากเทียมที่ฝังลงไปในกระดูก)
คือ ส่วนของรากเทียมที่มีลักษณะคล้ายสกรู หรือ น๊อต ที่ฝังจมลงไปในกระดูกขากรรไกร เพื่อให้มีการยึดติดกับกระดูกขากรรไกรทำหน้าที่เหมือนรากฟัน
Implant Abutment (แกนรองรับฟันปลอม)
คือ ส่วนยึดต่อระหว่าง Implant Body และส่วนทันตกรรมประดิษฐ์ ที่ทำจากไททาเนียม หรือ เซรามิค ทำหน้าที่แทนส่วนของตัวฟัน
Crown (ตัวครอบฟัน หรือฟันปลอม)
เป็นส่วนทันตกรรมประดิษฐ์ (Prosthetic component) คือ ส่วนของฟันเทียม เช่น ครอบสะพานฟัน, ฟันเทียมถอดได้ที่ยึดกับ Implant Abutment ซึ่งจะใช้กาวทางทันตกรรมยึดหรือสกรู
การฝังรากฟันเทียมในปัจจุบันมีหลายแบบด้วยกัน
- การฝังรากฟันเทียมแบบที่นิยมใช้โดยทั่วไป โดยปกติผู้ป่วยที่ฝังรากฟันเทียมโดยวิธีนี่ต้องใช้ระยะเวลาในการรอใส่ครอบฟันประมาณ 3-6 เดือน
- การฝังรากฟันเทียมแบบทันที เป็นวิธีการที่สามารถฝังรากฟันเทียมได้ทันที ภายหลังการถอนฟัน
- การฝังรากฟันเทียมพร้อมครอบฟันทันที เป็นการฝังรากฟันเทียมที่ทันตแพทย์จะทำการยึดครอบฟันปลอมหรือสะพานฟัน ทั้งแบบชั่วคราวหรือแบบถาวรทันทีภายหลังได้รับการฝังรากฟันเทียม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทันตแพทย์ผู้ทำการรักษา
ข้อดีของรากฟันเทียม
- ผู้ป่วยไม่ต้องกรอแต่งฟันซี่ข้างเคียง
- ป้องกันการสูญเสียฟันและกระดูกข้างเคียง
- สามารถใช้ฟันบดเคี้ยวได้ดี ช่วยให้ระบบการย่อยอาหารมีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้สุขภาพดีไปด้วย
- ดูเป็นธรรมชาติและการใช้งานมีประสิทธิภาพได้ใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติมากที่สุด
- เมื่อร่วมกับฟันเทียมแบบถอดได้ จะหมดปัญหาฟันเทียมขยับระหว่างพูดคุย หรือรับประทานอาหาร
- ช่วยการใส่ฟันเทียมแบบถอดได้ความรู้สึกสบาย มีความแน่นกระชับมากยิ่งขึ้น
- ช่วยให้ไม่มีปัญหากับการออกเสียงเวลาพูด เมื่อเทียบกับการใส่ฟันเทียมชนิดอื่น ๆ
- เพิ่มความมั่นใจ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้ความสวยงามเป็นธรรมชาติมากที่สุด
- มีความคงทนและถาวร และมีระยะเวลาในการใช้งานได้ยาวนานหลายปีหรือตลอดไป หากได้รับการดูแลรักษาทำความสะอาดที่ดี
ใครบ้าง ที่ควรเข้ารับการทำรากฟันเทียม
ผู้ที่มีการสูญเสียฟันแท้ไป สามารถรับการรักษาด้วยรากฟันเทียมได้ทุกคนโดยไม่กำหนดช่วงอายุ
ใครบ้าง ที่ไม่ควรทำรากฟันเทียม
- ผู้ที่อายุยังไม่ถึง 18 ปี เนื่องจากเด็กจะมีกระดูกขากรรไกรยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่
- ในผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ซึ่งควรรอให้คลอดบุตรก่อน จึงสามารถทำรากฟันเทียมได้
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะเสี่ยงต่อการที่บาดแผลหายช้า อักเสบ และติดเชื้อได้
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง ที่ต้องได้รับการฉายรังสีบริเวณใบหน้าและขากรรไกร
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุน หรือ มีภาวะกระดูกไม่แข็งแรง
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบรุนแรง ควรได้รับการรักษาเพิ่มเติม ก่อนทำรากฟันเทียม
- ผู้ป่วยที่เป็นลูคิเมีย
- ผู้ป่วยไฮเปอร์ไทรอยด์ ซึ่งควรได้รับการรักษาเพิ่มเติม ก่อนทำการฝังรากเทียม
- ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน หรือสูบบุหรี่จัด เพราะจะมีผลต่อความสำเร็จในการรักษา
- ส่วนผู้ป่วยจิตเภท
- ผู้ป่วยที่มีอาการไขข้ออักเสบรุนแรง
- ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ไม่สามารถดูแลรักษาสุขภาพช่องปากเองได้
ทำรากฟันเทียมได้ตอนอายุเท่าไหร่
ผู้ที่จะเข้ารับการรักษาทำรากฟันเทียม ทันตแพทย์แนะนำให้ทำได้ตั้งแต่ผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป เนื่องจากร่างกายได้หยุดการเจริญเติบโตแล้ว
ข้อควรพิจารณาในคนไข้ที่ต้องการฝังรากฟันเทียม
คนส่วนใหญ่สามารถใส่รากฟันเทียมได้ แต่ในบางกรณีอาจมีกระดูกในขากรรไกรไม่เพียงพอ อาจจะต้องปลูกถ่ายกระดูกหรือผ่าตัดยกโพรงอากาศขึ้นซึ่งจะเป็นไปตามคำแนะนำของทันตแพทย์ ในผู้ที่มีภาวะโรคประจำตัวบางประเภท หรือรับประทานยาที่จำกัดทางเลือก ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีภาวะเสี่ยงสูงที่ผลการรักษาอาจล้มเหลวได้
อย่างไรก็ดี การฝังรากฟันเทียมขึ้นอยู่กับสภาพเหงือกและปริมาณกระดูกในคนไข้แต่ละคน
ดังนั้น ก่อนเข้ารับการรรักษาคนไข้สามารถเข้ามาปรึกษาทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเตรียมตัวเข้ารับการทำรากฟันเทียม
ผู้ป่วยที่จะเข้ารับการรักษาด้วยรากฟันเทียมทุกราย จะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัย และ ประเมินอย่างละเอียดโดยทันตแพทย์เฉพาะทางด้านทันตกรรมรากฟันเทียม เพื่อความเหมาะสมและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง ซึ่งต้องเป็นทันตแพทย์ที่มีความรู้และความชำนาญ เพื่อที่จะสามารถเลือกรากเทียมที่เหมาะสมกับคนไข้ให้มากที่สุด และมีความเข้าใจเรื่องการบดเคี้ยว รวมถึงขั้นตอนทางทันตกรรมประดิษฐ์ สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว หรือกำลังรับประทานยารักษาโรคอื่น ๆ อยู่ ควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบ และสิ่งที่สำคัญผู้ป่วยควรดูแลสุขอนามัยช่องปากให้ดีก่อนเข้ารับการรักษาทำรากฟันเทียมด้วย
อายุการใช้งาน และการดูแลรักษารากฟันเทียม
รากฟันเทียม ทำมาจากไททาเนียมซึ่งมีความคงทนมาก อายุการใช้งานจะอยู่ที่การดูแลรักษาสุขภาพช่องปากของผู้ป่วย รากฟันเทียมไม่ผุแต่เกิดโรคเหงือกอักเสบได้หากดูแลได้ไม่ดี การดูแลรักษาก็เหมือนการดูแลรักษาฟันธรรมชาติ คือ การแปรงฟัน การใช้ไหมขัดฟัน และได้รับการตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำ หากทำทุกอย่างได้ดีรากฟันเทียมก็จะอยู่ได้ไปตลอด .