เคลือบผิวฟัน วีเนียร์ (Veneer) ทันตกรรมเพื่อความงาม
วีเนียร์ หรือการเคลือบผิวฟัน คือการตกแต่งฟันด้วยการกรอเอาผิวฟันออกเล็กน้อย และปิดทับด้วยวัสดุเซรามิก หรือคอมโพสิต เพื่อแก้ไขปัญหาของฟันที่มีความผิดปกติ เช่น ฟันผุ ฟันกร่อน หรือฟันแตกหัก เป็นต้น ให้กลายเป็นฟันที่มีสี และขนาดที่สวยงาม อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับผิวฟัน
การทำวีเนียร์ ถือว่าเป็นการทำฟันปลอมประเภทหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในประเภทของ ทันตกรรมเพื่อความงาม (Cosmetic Dentistry) โดยเป็นงานทันตกรรมเฉพาะทางทางด้านสายงานทันตกรรมที่ เรียกกันว่า “ทันตกรรมประดิษฐ์”
ประเภทของการเคลือบผิวหน้าฟันด้วยวีเนียร์
สามารถแบ่งได้ตามชนิดของวัสดุที่ใช้ ได้แก่
- เซรามิกวีเนียร์ (Porcelain Veneer)
- คอมโพสิตวีเนียร์ (Composite Veneer)
พลอสเลนวีเนียร์ หรือเซรามิกวีเนียร์
วีเนียร์ที่ทำจากเซรามิก จะมีความสวย ใส โปร่งแสงใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติ และจะมีความวาวมากกว่าคอมโพสิตวีเนียร์ การทำเซรามิกวีเนียร์มีผลข้างเคียงน้อย ดูแลรักษาง่าย ดังนั้น เซรามิกวีเนียร์จึงได้รับความนิยม
เซรามิกวีเนียร์ที่ ศูนย์ทันตกรรมดิจิทัล โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง มีทีมทันตแพทย์เฉพาะทางเป็นผู้วางแผนการรักษาร่วมกับคนไข้ และจะส่งแผนการรักษาไปผลิตชิ้นงานยังห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน โดยเจ้าหน้าที่แลปทันตกรรมที่มีความเชี่ยวชาญ
ข้อดีของเซรามิกวีเนียร์
- ลดการเกิดคราบต่าง ๆ ที่ผิวฟัน เนื่องจากเซรามิกวีเนียร์จะมีความลื่น และมัน
- ช่วยปรับการเรียงตัวของฟัน ซึ่งสามารถทดแทนการจัดฟันได้ในบางกรณี
- สีฟันดูขาว สว่างเป็นธรรมชาติ
- ในกรณีฟันห่าง การทำวีเนียร์จะช่วยในการปิดช่องว่างระหว่างฟัน
- สามารถเพิ่มความยาวและเปลี่ยนรูปร่างของฟันได้ในบางกรณี
- ช่วยแก้ไขฟันที่บิ่นหรือแตกได้
- มีความแข็งแรงทนทาน เนื่องจากเซรามิกไม่ดูดสี ทำให้มีวีเนียร์มีความสวยงามตลอดอายุการใช้งาน
ข้อด้อยของเซรามิกวีเนียร์
- มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับคอมโพสิตวีเนียร์
- ใช้ระยะเวลาในการทำมากกว่าคอมโพสิตวีเนียร์
- ต้องกรอเนื้อฟันมากกว่าคอมโพสิตวีเนียร์เล็กน้อย
วีเนียร์ คอมโพสิต (COMPOSITE VENEER)
คอมโพสิตวีเนียร์ คือการใช้วัสดุอุดสีเหมือนฟัน สร้างรูปร่างของฟันขึ้นมาใหม่ โดยวิธีนี้อาจจะมีการกรอฟัน หรือไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับสภาพฟัน และการสบฟันของคนไข้
ข้อดีของคอมโพสิตวีเนียร์
- มีความสวยงามใกล้เคียงฟันธรรมชาติ
- ค่าใช้จ่ายถูกกว่าเซรามิกวีเนียร์
ข้อเสียของคอมโพสิตวีเนียร์
- มีความแข็งแรงน้อยกว่าเซรามิกวีเนียร์
- อายุการใช้งานต่ำกว่าเซรามิกวีเนียร์
- คอมโพสิตวีเนียร์เป็นวัสดุที่ดูดน้ำ อาจทำให้มีการเปลี่ยนสีของตัวเคลือบฟันได้
- มีความสวยงามน้อยกว่าเซรามิกวีเนียร์
ประโยชน์ของการทำวีเนียร์
- แก้ไขรูปร่างของฟันให้เป็นไปตามความต้องการ
- แก้ไขการเรียงตัวของฟัน
- แก้ไขปัญหาขนาดฟัน สำหรับผู้ที่มีฟันซี่เล็กหรือใหญ่เกินไป
- แก้ไขปัญหา ฟันบิ่น ฟันแตก ฟันสึกกร่อน หรือฟันหัก ผิวฟันไม่เรียบ ผิวฟันด้านหน้าถูกทำลาย
- แก้ไขปัญหาสีฟันที่เหลือง ปรับระดับให้มีความขาวตามต้องการ
- แก้ไขปัญหาฟันห่าง
- เพิ่มความแข็งแรงและทนทานให้แก่ผิวฟัน
- สำหรับวัสดุเคลือบฟันที่เป็นเซรามิก จะช่วยป้องกันคราบสีที่เกิดจากอาหาร เช่น ชา กาแฟ และคราบบุหรี่ ไม่ให้ติดบนผิวเคลือบฟันได้
ขั้นตอนการรักษาด้วยการทำเซรามิกวีเนียร์
- ตรวจสุขภาพฟันของคนไข้ เพื่อประเมินการรักษา
- เตรียมฟัน โดยการกรอผิวฟันเล็กน้อยประมาณ 0.5-2.0 ม.ม. เพื่อเตรียมผิวฟันสำหรับการนำวีเนียร์มาติดกับเนื้อฟัน
- จากนั้นจะมีการพิมพ์แบบฟัน เพื่อจะส่งไปห้องปฏิบัติการผลิตวีเนียร์แต่ละชิ้นให้พอดี และสวยงาม
- นำวีเนียร์แต่ละชิ้นที่ได้มาทดลองติดบนตัวฟันของคนไข้ ซึ่งในระหว่างนี้ยังสามารถปรับแต่งตามความต้องการของคนไข้ได้
- เมื่อได้วีเนียร์ตามแบบที่คนไข้ต้องการแล้ว จะนำวีเนียร์นั้นไปติดกับเนื้อฟันด้วยวัสดุยึดถาวรที่เรียกว่า “composite resin cement” และฉายแสงเพื่อให้วัสดุแข็งตัว
การดูแลรักษา
- ควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หรือทุกครั้งหลังมื้ออาหารโดยเฉพาะขอบเหงือกที่ได้รับการทำวีเนียร์เพื่อป้องกันโรคเหงือก
- ใช้ไหมขัดฟันร่วมกับการแปรงฟันให้ถูกวิธีตามคำแนะนำจากทันตแพทย์
- บ้วนปากด้วยน้ำยาผสมฟลูออไรด์ก่อนนอนทุกวัน โดยอมไว้อย่างน้อยประมาณ 1 นาที
- หลีกเลี่ยงการเคี้ยวของแข็ง เช่น น้ำแข็ง ใช้ฟันเปิดปากขวดน้ำอัดลม
- พบทันตแพทย์เป็นประจำทุก ๆ 6 เดือน